การงอกของหลอดเรณู (ต.ค. 53)

เขียนโดย biology เมื่อ . หัวข้อ บทความ, บทความปี 2554

            โดย นางสาววิลาส  รัตนานุกูล

            พืชดอกแต่ละชนิดมีเรณูและรังไข่ที่มีขนาด รูปร่าง และลักษณะที่แตกต่างกัน (ดังภาพที่ 1)  เมื่ออับเรณูแก่เต็มที่ผนังของอับเรณูจะแตกออก จากนั้นเรณูจะกระจายออกไปตกบนยอดเกสรเพศเมียโดยอาศัยตัวพาชนิดต่างๆ เช่น ลม น้ำ แมลง สัตว์ และมนุษย์ เป็นต้น ซึ่งเรียกปรากฎการณ์นี้ว่า การถ่ายเรณู (pollination) เมื่อเรณูตกลงบนยอดเกสรเพศเมียจะเกิดการงอกหลอด  เรียกว่า หลอดเรณู (ดังภาพที่ 2) โดยหลอดเรณูนี้มีหน้าที่นำเซลล์สืบพันธุ์เพศผู้ เข้าไปผสมกับเซลล์สืบพันธุ์เพศเมียซึ่งอยู่ภายในรังไข่

54-1-1

ภาพที่ 1 รูปร่างและลักษณะของเรณู

ที่มา http://www.sc.chula.ac.th/thaiplants/Pollens/end.htm

54-1-2

ภาพที่ 2 เรณูและหลอดเรณู

            ในพืชแต่ละชนิดการงอกของหลอดเรณูจะใช้เวลาแตกต่างกัน เช่น การงอกของหลอดเรณูข้าวโพดสามารถงอกภายในเวลา 5 นาที และยาว 1 เซนติเมตรต่อชั่วโมง ส้มโอพันธุ์หอมหาดใหญ่ใช้เวลา 3 ชั่วโมงหลอดเรณูจึงสามารถงอกยาวผ่านก้านเกสรเพศเมียส่วนล่างสุดจนสามารถเข้าถึงออวุลได้  โดยปกติเรณูจะงอกหลอดเรณูหนึ่งหลอดต่อหนึ่งเรณู แต่พืชบางชนิดเรณูจะสามารถงอกหลอดเรณูได้มากกว่าหนึ่งหลอด เช่น ดอกแพงพวยฝรั่งสีม่วง

OLYMPUS DIGITAL CAMERA

ภาพที่ 3 หลอดเรณูของดอกแพงพวยฝรั่งสีม่วงที่งอกมากกว่าหนึ่งหลอด

            ปัจจัยที่มีผลต่อการงอกของหลอดเรณูมีหลายปัจจัยด้วยกัน เช่น สภาพภูมิอากาศ พันธุกรรม ความเป็นกรด-เบส แสง อุณหภูมิ ความชื้น และน้ำตาล เป็นต้น แต่จากผลการศึกษาของงานวิจัยต่างๆ พบว่านักวิทยาศาสตร์นิยมใช้น้ำตาลเป็นตัวแปรในการศึกษาการงอกของหลอดเรณู เนื่องจากในธรรมชาติยอดเกสรเพศเมียจะขับสารที่มีน้ำตาลเป็นองค์ประกอบออกจากเซลล์ผิว เช่น น้ำตาลซูโครส ซึ่งสามารถชักนำให้เกิดการงอกของหลอดเรณู โดยน้ำตาลซูโครสทำหน้าที่ควบคุมสมดุลของน้ำภายในและภายนอกเซลล์ของเรณู และยังเป็นอาหารของเรณูอีกด้วย

         ความมีชีวิตของเรณูในพืชแต่ละชนิดมีความแตกต่างกัน ตั้งแต่ดอกเริ่มบานจนถึงหลังจากดอกบานไปแล้วระยะหนึ่ง เรณูที่แตกออกมาจากอับเรณูใหม่ๆ จะมีค่าความมีชีวิตสูง จากนั้นจะค่อยๆ ลดลงหลังจากเวลาผ่านไป เช่น เรณูของทุเรียนที่แตกออกมาจากอับเรณูใหม่ๆ มีค่าความมีชีวิตประมาณ 90% แต่เมื่อเก็บไว้ที่อุณหภูมิห้องนานกว่า 20 ชั่วโมง พบว่าค่าความมีชีวิตจะลดลงเหลือประมาณ 85 %  การที่เรณูมีค่าความมีชีวิตสูงจะทำให้การงอกของหลอดเรณูและการปฏิสนธิเกิดขึ้นได้ดียิ่งขึ้น ดังนั้นในการทดลองเรื่องการงอกของหลอดเรณูจึงไม่ควรเก็บดอกไม้ที่ใช้ในการทดลองมาทิ้งไว้นานเกินไป

         ในการทดลองเกี่ยวกับการงอกของหลอดเรณู  ส่วนใหญ่ผู้ทดลองมักจะพบการแตกของเรณู ซึ่งเกิดจากความไม่สมดุลของแรงดันออสโมติก เนื่องจากความเข้มข้นของสารละลายที่ใช้ทดลองอาจเจือจางมาก น้ำจึงมีการแพร่เข้าสู่ภายในเซลล์ทำให้เซลล์เต่งเรณูจึงแตกได้  ถ้ามีการแตกของเรณูมากเกินไปผู้ทดลองสามารถแก้ไขได้โดยการเปลี่ยนสาร หรือเปลี่ยนความเข้มข้นของสารที่ใช้ในการทดลอง เช่น เปลี่ยนความเข้มข้นของสารละลายซูโครสให้มากขึ้น

54-1-4

ภาพที่ 4 การแตกของหลอดเรณู

 

เอกสารอ้างอิง

1.       ลักษณะและรูปร่างของเรณู (online). Available http://www.sc.chula.ac.th/thaiplants/Pollens/end.htm  (retrieved 8/10/2010)

2.       (online). Available http://mulinet10.li.mahidol.ac.th/e-thesis/4337241.pdf (retrieved 8/10/2010)

3.       (online). Available http://kukr.lib.ku.ac.th/Fulltext_kukr/KU0118077c.pdf(retrieved 12/10/2010)

4.       (online). Available http://kasetsartjournal.ku.ac.th/kuj_files/2008/A0805071818306796.pdf(retrieved 14/10/2010)

5.       (online). Available http://www.pakbs.org/pjbot/PDFs/40(3)/PJB40(3)0963.pdf(retrieved 11/10/2010)

6.       (online). Available http://jcmb.halic.edu.tr/pdf/3-2/In.pdf(retrieved 15/10/2010)

7.       (online). Available http://www.ru.ac.bd/flife/1.pdf(retrieved 15/10/2010)

8.       (online). Available http://rms1.agsearch.agropedia.affrc.go.jp/contents/JASI/pdf/society/47-2171.pdf(retrieved 15/10/2010)

 

 60,215 total views,  2 views today