“เด็กฉลาดรู้” นักเรียนไทยในการศึกษาวิถีใหม่

“เด็กฉลาดรู้” นักเรียนไทยในการศึกษาวิถีใหม่  สสวท. นำร่องใช้สื่อใหม่เพื่อนักเรียนขาดแคลนโอกาสฯ พัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลหนุนผู้เรียน

 “ความฉลาดรู้” คำนี้มีที่มาจากการประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล (PISA) ซึ่งมีการประเมิน ความฉลาดรู้ (Literacy) 3 ด้าน ได้แก่ ความฉลาดรู้ด้านการอ่าน (Reading Literacy) ความฉลาดรู้ด้านคณิตศาสตร์ (Mathematical Literacy) และความฉลาดรู้ด้านวิทยาศาสตร์ (Scientific Literacy)  จากผลการประเมิน PISA รอบปี 2018 จาก 79 ประเทศทั่วโลกพบว่าคะแนนวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ของประเทศไทยสูงขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับปีก่อนๆ แต่คะแนนการอ่านต่ำลง ทั้งนี้เมื่อพิจารณาภาพรวมของคะแนนทั้ง 3 ด้าน พบว่า คะแนนความฉลาดรู้ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของ OECD สะท้อนให้เห็นถึงคุณภาพของนักเรียนไทยเมื่อเทียบกับการจัดการศึกษาของประเทศอื่น ๆ  ซึ่งสิ่งที่เห็นชัดเจน คือ การเรียนรู้จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนจากเดิมเคยที่เน้นเนื้อหาวิชา (Content Based Learning)  เป็นจะต้องเน้นการสอนเพื่อพัฒนาให้เด็กฉลาดรู้เพิ่มขึ้น และเพิ่มสมรรถนะของผู้เรียน มากกว่าการมุ่งเน้นให้เด็กมีความรู้เพียงอย่างเดียว เพราะความฉลาดรู้เป็นสมรรถนะเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับคนไทยที่ควรมีไว้เป็นทักษะพื้นฐานในสังคมยุคดิจิทัลเพื่อรองรับศตวรรษที่ 21

สืบเนื่องจากเหตุผลดังกล่าว สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) กระทรวงศึกษาธิการ จึงได้ดำเนินงานภายใต้จุดเน้นเพื่อ “สร้างเด็กฉลาดรู้ ครูคุณภาพสูง  ยกระดับการศึกษาไทย แข่งขันได้ด้วยฐานสมรรถนะ”  มาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว และจะขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่องในปี 2565  

 การพัฒนานักเรียนให้มีความฉลาดรู้ด้านวิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ นั้น สสวท. “มุ่งให้นักเรียนมีความสามารถในการเชื่อมโยงความรู้ แนวคิดทางวิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์  เพื่อวิเคราะห์สถานการณ์ หรือปัญหา หาคำตอบ แสดงเหตุผล หรือลงข้อสรุปได้อย่างมีวิจารณญาณ รวมถึงสามารถสื่อสารได้อย่างเหมาะสม” โดยพัฒนาสื่อ และกระบวนการจัดการเรียนรู้ที่มุ่งฐานสมรรถนะสำหรับผู้เรียน พัฒนาสื่อสำหรับนักเรียนท้องถิ่นทุรกันดาร หรือขาดแคลนโอกาสทางการศึกษา พัฒนา และส่งเสริมนักเรียนผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  พัฒนาอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ในระดับประถมศึกษา พัฒนา และส่งเสริมให้ผู้แทนประเทศไทยไปแข่งขันคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศทั้งแบบออนไลน์ หรือเข้าร่วมแข่งขันในต่างประเทศที่เป็นเจ้าภาพ รวมทั้งดำเนินโครงการอื่นๆ ที่ส่งเสริมให้นักเรียนเกิดความฉลาดรู้ด้านวิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ในโรงเรียน

 ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ  ลิมปิจำนงค์  ผู้อำนวยการ สสวท.  กล่าวว่า  “การพัฒนาสื่อสำหรับนักเรียน สสวท. มุ่งพัฒนานักเรียนทุกกลุ่ม ไม่ละเลยที่จะพัฒนาสื่อที่เหมาะกับนักเรียนขาดแคลนโอกาสทางการศึกษา  ในรูปแบบที่เหมาะสมสำหรับนักเรียนกลุ่มที่ยังมีข้อจำกัดในการเข้าถึงเทคโนโลยี และนอกจากหนังสือเรียนที่เป็นสื่อสิ่งพิมพ์แล้ว  สสวท. ยังได้พัฒนาสื่อดิจิทัล มีระบบการจัดการเรียนรู้แบบออนไลน์ สามารถรวบรวมเนื้อหา และข้อมูลเพื่อช่วยสนับสนุนการสอนของครูในรูปแบบออนไลน์เพื่อติดตามความก้าวหน้าในการเรียนรู้  เก็บข้อมูลการใช้งาน และนำมาปรับให้เหมาะสมกับผู้เรียน” 

ในการพัฒนาสื่อสำหรับนักเรียนกลุ่มที่ขาดแคลนโอกาสทางการศึกษา ซึ่งยังไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีแบบออนไลน์ได้ สสวท. ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน พัฒนาสื่อ 65 พรรษา ในวโรกาสที่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระชนมายุ 65 พรรษา (สื่อ 65 พรรษา) เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับครูสำหรับการจัดการเรียนรู้ ในลักษณะของชุดการเรียนรู้สมบูรณ์แบบ (Comprehensive Learning Package) ที่ครอบคลุมหลักสูตร ที่อิงมาตรฐาน และเชื่อมโยงไปสู่สมรรถะ รวมทั้งเน้นการออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ ที่ส่งเสริมความรู้ ทักษะ และพฤติกรรมของผู้เรียนรอบด้าน มีการวัดประเมินผลที่สะท้อนถึงการพัฒนา และความสำเร็จของผู้เรียน อีกทั้งยังส่งเสริมให้ผู้เรียนสามารถค้นคว้าต่อเนื่อง ในลักษณะการเรียนรู้ตามความสนใจได้ การจัดทำสื่อแบ่งออกเป็น 2 ระยะ โดยระยะแรกนั้นได้จัดทำสื่อสำหรับระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ให้ครอบคลุมทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ตามหลักสูตร และจะจัดทำสื่อระดับมัธยมศึกษาตอนปลายในโอกาสต่อไป 

ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานกำลังเตรียมจัดพิมพ์เอกสารชุดสื่อ 65 พรรษา  ไปทดลองใช้ในโรงเรียนกลุ่มเป้าหมายในโรงเรียนขนาดเล็ก สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน และโรงเรียนพระปริยัติธรรม สังกัดสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ใน 10 จังหวัด ประกอบด้วย เชียงราย พะเยา เชียงใหม่ ลำปาง แพร่ น่าน บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ ตาก และนราธิวาส กว่า 30 โรงเรียน ในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564   

 นอกจากนั้น สสวท. ยังได้พัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อการเรียนรู้วิถีใหม่ ที่เรียกว่าโครงการ Project 14 ให้นักเรียน ครู และบุคลากรทางการศึกษาได้เข้าถึงสื่อการเรียนการสอนและสื่อช่วยสอนที่มีคุณภาพสูง พัฒนาระบบปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence)  ในการเก็บรวบรวม วิเคราะห์ข้อมูล พัฒนาการการเรียนรู้ ศึกษาพฤติกรรมของผู้เรียน ประเมิน วางแผนการจัดการเรียนรู้ และพยากรณ์อนาคตที่สอดคล้องกับสภาพจริง  สอดรับกับการเรียนรู้ฐานสมรรถนะและการเรียนรู้รูปแบบใหม่ ผู้สนใจติดตามได้ที่เว็บไซต์ : http://proj14.ipst.ac.th YouTube: IPST Proj14 และ Facebook : IPST Proj14

เสียงสะท้อนจากครูผู้ใช้งานบทเรียนออนไลน์ Project 14 อาทิ 

• โชคดีมากๆ ที่ได้รู้จักโปรเจ็คนี้ ช่วงโควิดรอบ 2 ได้ให้นักเรียนศึกษาการทดลองผ่าน Project 14 ส่งผลให้นักเรียนมองเห็นภาพได้ชัดเจนขึ้น และยังสามารถศึกษาได้ซ้ำๆ เมื่อไม่เข้าใจ 

• ปีการศึกษาที่แล้ว สอนคณิตวิทย์ ใช้ในการทบทวน กับเรียนรู้เพิ่มเติมให้แก่เด็ก ในช่วงก่อนกลับบ้าน เพราะเรียนเนื้อหาเลยไปแล้ว ส่วนปีนี้ได้ไปสอนคอมพิวเตอร์ก็เตรียมใช้ในส่วนวิทยาการคำนวณแทน

• ใช้เป็นสื่อในการเตรียมความพร้อมก่อนสอนและใช้สอนออนไลน์ดีมาก

• ใช้เป็นสื่อการเรียนการสอนในห้องเรียนโดยให้นักเรียนศึกษากิจกรรมทดลองเนื่องจากเป็นโรงเรียนขนาดเล็กที่มีความขาดแคลนสื่ออุปกรณ์วิทยาศาสตร์

ส่วนเสียงตอบรับจากผู้ปกครอง เช่น มีตัวการ์ตูนด้วย ลูกชายเรียน ป. 2 ชอบมาก, ใช้สอนลูกได้ อาจารย์ที่สอนเก่งทุกคน, ให้ลูกๆ ที่บ้าน ป.4 กับ ป.1 เรียน เรียนง่าย ขอให้เขาเขียนตามคุณครูที่สอนบ้าง เขาก็เขียนมาให้แม่ดู, ลูกชายขึ้น ป.6 ได้เรียนฟิสิกส์ ม.4 น้องบอกแบบนี้แหละที่ต้องการเรียน,  ให้หลานเรียนทุกวันค่ะ เข้าใจได้ไม่ยาก


ส่งข้อความถึงเรา